ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

                ภาษีโรงเรือนและที่ดิน    หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอย่างอื่นกับที่ดินที่ใช้ต่อเนื่อง  รวมถึงแพด้วย  ซึ่งเจ้าของอยู่เองหรือให้ผู้อื่นอยู่เฝ้ารักษา หรือประกอบกิจการหารายได้

กฎหมายที่ให้อำนาจ  อบต.จัดเก็บภาษีประเภทนี้คือพ.ร.บ.ภาษีโรงเรียนและที่ดิน พ.ศ. 2475

ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน   คือ ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินโรงเรือน สิ่งปลูกสร้าง   ซึ่งหาผลประโยชน์โดยใช้เป็นสถานที่ประกอบการพาณิชย์ต่างๆ

 

                ทรัพย์สินที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน  ได้แก่ โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างให้เช่า , ที่ทำการค้าขายและเก็บสินค้า , สถานที่ประกอบอุตสาหกรรม

 

                ฐานภาษี   คือ โรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างกับที่ดินที่ใช้ต่อเนื่อง  ดังนั้นในการจัดเก็บภาษีโรงเรือนและสิ่งปลูกสร้างและที่ดิน จึงอาจแบ่งทรัพย์สินออกได้เป็น 2 ประเภท คือ ทรัพย์สินต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน และทรัพย์สินที่ไม่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน                        

 

อัตราจัดเก็บภาษี   ภาษีโรงเรือนและที่ดินให้จัดเก็บจากค่ารายปีของทรัพย์สิน  ในอัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี

 

                ค่ารายปี  หมายถึง  จำนวนเงินที่ทรัพย์สินนั้นสมควรให้เช่าได้ในปีหนึ่งๆ ในกรณีที่ทรัพย์สินนั้นให้เช่าให้ถือว่าค่าเช่านั้นคือค่ารายปี หรือในกรณีทรัพย์สินนั้นใช้ประกอบกิจการหารายได้  ให้ถือว่ารายได้จากการประกอบกิจการค้านั้นคือค่ารายปี

 

                การประเมินค่ารายปี   การประเมินค่ารายปีเพื่อเก็บภาษี  ให้นำค่ารายปีที่ล่วงมาแล้วเป็นฐานในการคำนวนค่าภาษีซึ่งจะต้องเสียในปีต่อมา

 

                ระยะเวลาการชำระภาษี     ตั้งแต่เดือนมกราคม – เดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี 

 

ขั้นตอนการชำระภาษี

 

-  เจ้าของทรัพย์มีหน้าที่ยื่นแบบพิมพ์แจ้งรายการทรัพย์สิน ( แบบ ภรด.2) ต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งทรัพย์สินตั้งอยู่ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

 

-  พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพิจารณาแบบๆและถ้าเห็นจำเป็นอาจเข้าไปตรวจทรัพย์สินได้ด้วยตนเองและเมื่อได้ตรวจตราแล้วพนักงานเจ้าหน้าทีจะกำหนดประเภทของทรัพย์สิน แล้วแจ้งรายการประเมินไปให้ผู้รับการประเมินทราบโดยไม่ชักช้า

 

-  เมื่อผู้รับการประเมินได้รับแจ้ง(ภรด.8)แล้วต้องไปชำระภาษีต่อพนักงานภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

 

                เงินเพิ่ม   ถ้าภาษีไม่ได้ชำระภายในเวลาที่กำหนด  ให้ถือว่าเงินภาษีนั้นค้างชำระ , ถ้าเงินค้างชำระให้เพิ่มจำนวนขึ้นดังอัตราต่อไปนี้

 

-  ชำระไม่เกินหนึ่งเดือนนับแต่วันพ้นกำหนดให้เพิ่ม 2.5 %แห่งภาษีที่ค้าง

 

-  ถ้าเกินหนึ่งเดือนแต่ไม่เกินสองเดือน ให้เพิ่ม 5 %แห่งค่าภาษีที่ค้าง

 

-  ถ้าเกินสองเดือนแต่ไม่เกินสามเดือน ให้เพิ่ม7.5 %แห่งค่าภาษีที่ค้าง

 

-  ถ้าเกินสามเดือนแต่ไม่เกินสี่เดือน ให้เพิ่ม 10 %แห่งภาษีที่ค้าง

 

-  ถ้ามิได้มีการชำระค่าภาษีและเงินเพิ่มภายในสี่เดือนให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือให้ยึด  อายัด หรือขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้ค้างชำระภาษี เพื่อนำเงินมาชำระเป็นค่าภาษี